ด้านประกันคุณภาพ

                

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การประเมินคุณภาพภายในระดับสถาบัน วันที่ 14 กันยายน 2565

 

 

      จุดเด่นของวิทยาลัย

1. สถาบันมีระบบและกลไกในการกำกับติดตามการดําเนินงานของหลักสูตรไว้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถนําไปสู่การปฏิบัติได้ ทำให้เกิดกระบวนการการบริหารจัดการหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ และมีผลการประเมินคุณภาพผ่านในระดับ ดี และดีมาก โดยภาพรวมอยู่ในระดับ ดี การกำกับมาตรฐานทุกหลักสูตร ซึ่งสะท้อนการบริหารจัดการหลักสูตรในภาพรวมที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. สถาบันมีระบบและกลไกในการให้คำปรึกษา และแนะแนวทางการสู่อาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ระบบพี่เลี้ยงนักศึกษา ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (CAS-UBI) การจัดระบบการให้ข้อมูลข่าวสาร ช่องทางที่หลากหลาย และกิจกรรมการเตรียมความพร้อมเมื่อสำเร็จการศึกษาโดยมีการติดตามและประเมินผลอย่างชัดเจน 

3. มีระบบและกลไกสนับสนุน และขับเคลื่อนงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพได้แก่ ระบบการผลิตและเผยแพร่งานวิจัย การยกย่องผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น ระบบการคุ้มครองสิทธิ์ในงานวิจัย ระบบตรวจสอบอัครวิสุทธิ์ และข้อกฎหมายต่างๆ และที่สำคัญมีกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยให้สำเร็จ ได้แก่ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ทั้งหมด 5 ชุด

4. มีกิจกรรมทางวิชาการที่สร้างคุณภาพและชื่อเสียงสถาบันที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัยได้แสดงศักยภาพ และนำเสนอผลงานทางวิชาการโดยมีภาคีเครือข่ายสถาบันทั้งภายใน และต่างประเทศ เช่นการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ที่ชื่อว่า CASNIC ต่อเนื่องจนเป็นปีที่ 9 และประการสำคัญ สถาบันได้สนับสนุนการทำวิจัย และเผยแพร่ผลงานในเวทีนี้อย่างมากมายมาตลอดทุกปี เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและคุณภาพบุคลากรทุกระดับ สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของสถาบัน

5. สถาบันมีกลไกในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำนดไว้ ได้แก่ คณะกรรมการรับผิดชอบ แผนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โครงการ/กิจกรรม และการกำกับติดตาม ทำให้ผลการดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมาย ได้แก่ ผลการประเมินความสำเร็จตามตัวบ่งชี้ตามวัตถุประสงค์มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.51-5 และการบูรณาการกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษาของโครงการคิดเป็น ร้อยละ 100

6. สถาบันมีการเผยแพร่กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่อชุมชน และมีระบบการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางหลายช่องทาง รวมทั้งการนำนักศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างจิตที่เป็นกุศล และจิตสาธารณะ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ คือ ดี และมีภาวะผู้นำ

         

       จุดที่ควรพัฒนา/ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

 ด้านการผลิตบัณฑิต

1.  สถาบันควรกำหนดแผนการพัฒนาอาจารย์ทั้งด้านการการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้มีตำแหน่งทางวิชาการแต่ละปีงบประมาณ อย่างน้อยร้อยละ 3 -5 ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมด ที่สอดรับกับพันธกิจด้านการพัฒนาอาจารย์ให้มีคุณภาพ วิชาการและการวิจัย

2. ไม่ปรากฏผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของนักศึกษาและบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สถาบันควรนำข้อเสนอแนะที่ดีมาปรับปรุง และพัฒนากิจกรรมเพื่อการบริการที่สร้างประโยชน์ต่อนักศึกษาและสังคมเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสถาบัน และอัตลักษณ์ของนักศึกษา “เก่ง ดี มีภาวะผู้นำ”

3. ไม่ปรากฏผลการประเมินกิจกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษาที่สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ความคุ้มค่าของโครงการ/กิจกรรมที่เกิดกับตัวนักศึกษาที่เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคม เช่น การรณรงค์พิษภัยของบุหรี่ ยาเสพติดฯ สถาบันควรมีกลไกดำเนินการ และกำกับติดตามให้เกิดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมอย่างจริงจัง

4. สถาบันควรมีกิจกรรมที่มุ่งสนับสนุน และเสริมสร้างการพัฒนา Upskills, Reskills, Soft skill, และHard skill มากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน และส่งเสริมความสำเร็จเพื่อการทำงานในอนาคต

 

ด้านการวิจัย

5. สถาบันควรมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ผลงานวิจัยถึงความสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของสถาบันเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และสะท้อนถึงความคุ้มค่าในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย

6. สถาบันควรมีการทบทวนการกำกับกรอบทิศทาง นโยบายด้านการสร้างผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างก้าวกระโดด และมุ่งเป้าให้เป็นไปตามทิศที่ต้องการเพื่อเตรียมความพร้อมในการยกระดับสถาบันให้เป็น “มหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์แบบ” ในอนาคต

7. สถาบันควรกำกับติดตามหน่วยงานภายในที่มีผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ต่ำ หรือได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางวิชาการ และศักยภาพของอาจารย์ที่จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพนักศึกษา และสถาบันต่อไป

 

ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

8. สถาบันควรมีการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อสร้างจุดเด่นทางศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเป็นจุดขายบนพื้นฐานความหลากหลายของบุคลากรในคณะต่างๆ และสร้างพื้นที่นวัตกรรมทางวัฒนธรรมในเขตอำเภอพลด้วยการกำหนดระบบ และกลไกลในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเชิงประจักษ์ และผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับ ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของสถาบัน